วันอังคารที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หน่วยการเรียนรู้ที่ 4 การจัดการผลผลิตทางการเกษตร


การจัดการผลผลิตทางเกษตร

ผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทยของเรานั้นมีมากมายหลายชนิดผลัดเปลี่ยนกันผลิดอกออกผลตลอด  ทั้งปี ซึ่งเกิดจากการดูแลเอาใจใส่ของเกษตรกรผู้ผลิต ตั้งแต่การคัดเลือก พันธุ์พืช การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การให้น้ำและการให้ปุ๋ย การป้องกันกำจัดพืช การเก็บเกี่ยว และการวางจำหน่าย อย่างไรก็ตาม ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นกับการจัดการภายหลังการเก็บเกี่ยวของผลผลิตทางการเกษตรของประเทศไทย ก็คือ การจัดการทางการตลาด (marketing management)
                การจัดการทางการตลาดนี้มีให้กล่าวถึงกันได้หลายมุมมองแตกต่างกันไป  ในที่นี้จะขอกล่าวถึง การตลาดในส่วนที่ค่อนข้างจะใกล้ตัวเกษตรกรค่อนข้างมาก นั่นก็คือ  การจัดการทางการตลาดในรูปแบบที่ตัวเกษตรกรเป็นผู้จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรเอง คือ เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้แปรรูป และผู้จำหน่ายเองในตัวคนๆเดียวกัน หรือกันง่ายว่า     ปลูกเอง ขายเอง
                ส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบการตลาด เพื่อการวางจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรในลักษณะผลผลิตสด หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปอย่างง่าย อาทิเช่น การทอด การกวน การแช่อิ่ม เป็นต้น
                สิ่งที่สำคัญอันดับแรกที่ต้องกล่าวถึงถึง นั่นก็คือ สินค้า (product)  ที่จะนำมาวางจำหน่ายต้องเป็นผลผลิตที่มีความปลอดภัย ปราศจากการเข้าทำลายของโรคและแมลง หรือสารพิษตกค้าง ที่อาจจะมีผลกระทบต่อผู้บริโภค  ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนรอยตำหนิหรือ สักษณะที่ผิดปกติทางสรีรวิทยาต่างๆของผลผลิต ซึ่งเป็นลักษณะภายนอกที่ผู้บริโภคสามารถสังเกตุและมองเห็นได้ง่ายและทันที
                มาตรฐานคุณภาพ (quality criteria) สามารถแบ่งออกเป็นคุณภาพภายนอก และคุณภาพภายในการวางจำหน่ายผลผลิตผู้ซื้อจะให้ความสำคัญกับคุณภาพภายนอกค่อนข้างมาก บางครั้งจึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มกระบวนการบางอย่างให้ผลผลิตน่าสนใจเพิ่มขึ้น เช่น การเคลือบผิว (waxing) และการลดสีเขียว (degreening) ของแอปเปิ้ลและส้ม อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคเกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจต่อคุณภาพภายในของผลผลิตแล้วก็จะทำให้ลดปริมาณการซื้อครั้งต่อไปได้ ซึ่งมาตรฐานที่สำคัญที่ผู้บริโภคใช้ในการพิจารณา คือ ลักษณะที่มองเห็น ซึ่งรวมถึง ขนาด สี และรูปทรง ลักษณะที่ผิดปกติ เนื้อสัมผัส รสชาติ และคุณค่าทางอาหาร (Wills et. al., 1998)
                ความสดใหม่และความสะอาด (fresh & clean) ของผลผลิตทางการเกษตรก็เป็นสิ่งที่ช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อและผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ยังรวมถึงรูปแบบของภาชนะบรรจุ  และการจัดเรียงสินค้าให้เป็นระเบียบสวยงามที่น่าสนใจ  ตลอดจนการมีป้ายราคาของผลผลิตให้ถูกต้องและชัดเจน ก็จะช่วยให้ผู้ซื้อตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ใน     บางครั้งอาจจะจำเป็นต้องมีป้ายแสดงสรรพคุณของผลผลิต รวมทั้งข้อเสนอแนะที่น่าสนใจของผลผลิตทางการเกษตรในแต่ละชนิด
                ทั้งนี้  การจัดกิจกรรมชิมตัวผลผลิต ก็ถือว่า เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดีและน่าลองนำไปใช้ตามแต่โอกาสและสถานการณ์จะอำนวยได้
                อย่างไรก็ตาม การเลือกทำเลที่ตั้งของการวางจำหน่ายก็ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ บางท่านที่เป็นผู้รู้และผู้เชี่ยวชาญทางการตลาดจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งจำเป็นต้องเป็นแหล่งชุมชน มีจำนวนประชาชนหนาแน่น   การคมนาคมและการเดินทางสะดวกสบาย
                สุดท้ายที่จะขาดเสียไม่ได้ นั่นก็คือ ผู้จำหน่ายสินค้าหรือผู้บริการต้องมีจิตใจในการให้บริการ ที่เรียกกันว่า Service Mind
                ในเมื่อมีโอกาสได้กล่าวถึง การจัดการทางการตลาดในรูปแบบที่ใกล้ตัวเกษตรกรที่เป็นหลักการและแนวทางไปแล้วนั้น ผู้เขียนก็ขอนำประสบการณ์ที่ได้พบเจอมาเล่าสู่กัน สักเรื่องหนึ่ง
                ผู้เขียนได้มีโอกาสพบเจอคุณลุงและคุณป้าคู่หนึ่งจะด้วยเหตุว่าท่านทั้งสองเป็นเกษตรกร ผู้ปลูกมะขามหวานเองแล้วนำมาแปรรูปเป็นมะขามแช่อิ่มและมะขามคลุกน้ำตาลก็ไม่ทราบได้ เพียงแต่อาศัยข้อมูลจากการสังเกตจากปัจจัยรอบข้าง  ที่พอจะทราบว่า ทั้ง 2 ท่านนี้จะนำผลิตภัณฑ์แปรรูปมาวางจำหน่ายในช่วงเย็นถึงช่วงค่ำบริเวณข้างร้านก๋วยเตี๋ยวโต้รุ่งใกล้ทางเข้าหมู่บ้านจัดสรรที่มีผู้พักอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น และผู้มาใช้บริการร้านก๋วยเตี๋ยว                 มากด้วยเช่นกัน จึงค่อนข้างเหมาะสมใช้เป็นทำเลที่ตั้งร้านค้าสำรับวางจำหน่ายสินค้า
                ในระยะแรกของการวางจำหน่ายสินค้ายังขายไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ประกอบกับยังไม่ป้ายบอกชื่อสินค้า จึงทำให้บุคคลทั่วไปที่ผ่านไปมาไม่ทราบกันมากนัก     แต่ก็มีวิธีการแก้ไขคือ  ในช่วงเวลาก่อนการเปิดร้านค้าหรือจัดร้านใหม่ ควรมีการทำป้ายประชาสัมพันธ์ว่า จะมีร้านค้าเปิดใหม่และมีสินค้าประเภทใดมาวางจำหน่ายก็จะช่วยลดปัญหาในเรื่องนี้ไปได้มาก  ต่อมาเมื่อเปิดร้านค้าแล้วก็ควรมีป้าย บ่งบอกชื่อสินค้า ราคา และสรรพคุณในรูปแบบที่มีสีสันและมองเห็นชัดเจน จะทำให้มีโอกาสในการขายมากขึ้น และผู้เขียนก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า    คุณลุงและคุณป้าทั้ง 2 ท่านจะมีความสุขในการดำเนินกิจการ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอดี พอใจและพอเพียง

เอกสารอ้างอิง
Wills, R., B. McGlasson, D. Graham  and D. Joyce. 1998. An introducetion to physiology and handling of fruit, vegetable and ornamentalsHyder Park Press, AdelaideSouth Australia.



1.วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตพืช  

การเก็บเกี่ยว                                                           
     การเก็บเกี่ยว หมายถึงการปฏิบัติการต่อพืชขั้นสุดท้าย ซึ่งเกี่ยวกับการเก็บเอาผลผลิตของพืชจากแปลงปลูกพืชเพื่อการบริโภค เพื่อการแปรรูปหรือจัดจำหน่ายต่อไป การปลูกพืชตั้งแต่ขั้นต้นผ่านการปฏิบัติ ดูแลรักษา มาจนถึงระยะของการเก็บเกี่ยวผลผลิตนั้น ก็อาจเรียกว่าเป็นขั้นสุดท้ายของการผลิตดังนั้นผู้ผลิตจะต้องรู้วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างถูกต้องและรวดเร็วทันต่อเวลา มิฉะนั้นอาจทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหายตลอดจนคุณภาพของผลผลิตพืชไม่ตรงกับความต้องการของตลาด
หลักเกณฑ์การเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพร
     การเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพรเพื่อนำมาใช้เป็นยานั้นผู้เก็บจำเป็นต้องรู้ในเรืองรูปร่าง ลักษณะสัณฐานของพืชและยังต้องอาศัยความรู้ทางด้านสรีรวิทยาและขบวนชีวสังเคราะห์ในพืชด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ได้สารสำคัญ (Active constituents) ซึ่งมีฤทธิ์ในการบำบัดรักษาในปริมาณที่สูงที่สุด สรรพคุณของพืชสมุนไพรจะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารสำคัญในพืชสมุนไพรนั้นๆปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลต่อคุณภาพของสมุนไพรได้แก่ การเก็บเกี่ยว ช่วงเวลาที่เก็บสมุนไพร และวิธีการเก็บสมุน ไพร จะมีผลต่อปริมาณสารสำคัญในสมุนไพร นอกจากนี้การเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพรยังต้องคำนึงถึงการเก็บสมุนไพรให้ถูกต้นและเก็บให้ถูกส่วนอีกด้วย เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อปริมาณของสารสำคัญ ซึ่งจะเกี่ยวโยงถึงผลในการรักษาโรคของสมุนไพรนั้น ๆ
หลักสำคัญในการเก็บเกี่ยวพืชสมุนไพร มีดังนี้
  1. เก็บเกี่ยวถูกระยะเวลา ที่มีปริมาณสารสำคัญสูงสุด การนำพืชสุมนไพรไปใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุดนั้น ในพืชจะต้องมีปริมาณสารสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวพืชสมุนไพร ดังนั้นการเก็บเกี่ยวสมุนไพร จึงต้องคำนึงถึงทั้งอายุเก็บเกี่ยว และช่วงระยะเวลาที่พืชให้สารสำคัญสูงสุดด้วย
  2. เก็บเกี่ยวถูกวิธี โดยทั่วไปการเก็บส่วนของพืชสมุนไพรแบ่งออกตามส่วนที่ใช้เป็นยาดังนี้
2.1 ประเภทรากหรือหัว เช่น กระชาย, ข่า, ขิง และ ไพล เป็นต้น ควรเก็บในช่วงที่พืชหยุดการเจริญเติบโต ใบและดอกร่วงหมด หรือเก็บในช่วงต้นฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงที่รากและหัวมีการสะสมปริมาณสารสำคัญไว้ค่อนข้างสูง
วิธีเก็บ ใช้วิธีขุดอย่างระมัดระวัง ตัดรากฝอยออก

2.2 การเก็บเปลือกรากหรือเปลือกต้น เช่น เปลือกต้นของ เปลือกสีเสียด เปลือกทับทิม มักเก็บ ในช่วงระหว่างฤดูร้อนต่อกับฤดูฝน ซึ่งมีปริมาณสารสำคัญในเปลือกจะสูง และเปลือกลอกออกง่าย ส่วนเปลือกรากควรเก็บในช่วงต้นฤดูฝนเพราะจะลอกได้ง่าย
วิธีเก็บ การลอกเปลือกต้นอย่าลอกออกรอบทั้งต้นควรลอกออกจากส่วนกิ่งหรือแขนงย่อยหรือใช้วิธีลอกออกในลักษณะครึ่งวงกลมก็ได้ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อระบบการลำเลียงอาหารของพืช และไม่ควรลอกส่วนลำต้นใหญ่ของต้นซึ่งอาจทำให้พืชตายได้

2.3 ประเภทใบหรือเก็บทั้งต้น เช่น กะเพรา ฟ้าทะลายโจร ชุมเห็ดเทศ ควรเก็บในช่วงที่พืชเจริญเติบโตมากที่สุด บางชนิดจะระบุช่วงเวลาที่เก็บ ซึ่งช่วงเวลานั้นใบมีสารสำคัญมากที่สุด เช่น เก็บใบแก่ หรือใบไม่อ่อนไม่แก่เกินไป (ใบเพสลาด) เป็นต้น
วิธีเก็บ ใช้วิธีเด็ดหรือตัด

2.4 ประเภทดอก เช่น ดอกคำฝอย ดอกเบญจมาศโดยทั่วไปเก็บในช่วงดอกเริ่มบาน แต่บางชนิด ก็ระบุว่าให้เก็บในช่วงที่ดอกยังตูมอยู่ เช่น กานพลู เป็นต้น
วิธีเก็บ ใช้วิธีเด็ดหรือตัด

2.5 ประเภทผลและเมล็ด โดยทั่วไปมักเก็บตอนผลแก่เต็มที่แล้ว เช่น มะแว้ง ดีปลี ชุมเห็ดไทย แต่บางชนิดก็ระบุให้เก็บในช่วงที่ผลยังดิบอยู่ เช่นฝรั่ง เป็นต้น
วิธีเก็บ ใช้วิธีเด็ดหรือวิธีตัด
พืชที่ให้น้ำมันระเหย ควรเก็บขณะดอกกำลังบานและสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมควรจะเก็บในเวลาเช้า มืดเพื่อให้สารที่เป็นยาซึ่งอยู่ในน้ำมันหอมระเหยนั้นไม่ระเหยหายไปกับแสงแดดเช่น กะเพรา เป็นต้น
วิธีการเก็บสมุนไพรที่ถูกต้องเหมาะสมนั้น โดยทั่วไปไม่มีอะไรสลับซับซ้อนประเภทใบหรือดอก ใช้วิธีเด็ดธรรมดา ส่วนแบบราก หัว หรือเก็บทั้งต้น ใช้วิธีขุดอย่างระมัดระวัง เพื่อประกันให้ได้ส่วนที่เป็น ยามากที่สุด สำหรับเปลือกต้นหรือเปลือกราก มีผลต่อการดำรงชีวิตของต้นพืชสมุนไพร ดังนั้นจึงควรสนใจวิธีการเก็บดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น


2.การแปรรูปผลผลิต   



การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
       การนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปจะช่วยป้องกันการล้นตลาดของผลิตผลสด ซึ่งช่วยยกระดับราคาผลิตผล ไม่ให้ตกต่ำ การเพิ่มมูลค่าของผลิตผลทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นอาหารระดับอุตสาหกรรม ที่สามารถรับวัตถุ ดิบเพื่อผลิตเป็นอาหารจำนวนมากได้ การผลิตอาหารให้ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยต่อผู้บริโภค การส่งเสริม ให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารให้เป็นที่ยอมรับ และสามารถขยายตลาดการค้าออกไปสู่ต่างประเทศ จะช่วยเพิ่มพูน รายได้ให้แก่ประเทศได้เป็นอย่างดี
เนื้อหาสาระ สาระการเรียนรู้แกนกลาง สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี  สาระที่ 1 การดำรงชีวิตและครอบครัว เรื่องการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
การเก็บรักษาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เป็นการนำเอาผลผลิตทางการเกษตรมาผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อให้เก็บรักษาผลผลิตทางเกษตรไว้ได้นานก่อนถึงตลาดและผู้ซื้อ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ สภาพของผลผลิตความสะอาด ความชื้น อุณหภูมิ การถ่ายเทอากาศ
การเกษตร หมายถึง การปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์  ต้องอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติเป็นสำคัญ
ผลผลิตทางการเกษตร หมายถึง สิ่งที่ได้มาจากการทำเกษตรกรรม ได้แก่ การปศุสัตว์ การป่าไม้  การประมง การกสิกรรม  และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้จากการแปรรูปไปเป็นอย่างอื่น เช่น อาหารกระป๋อง เครื่องหนัง ไม้อัด ผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ
         1. ผลผลิตที่ใช้ในการอุปโภค เช่น ฝ้าย ปอ ป่าน ไหม ยาง ไม้อัด เป็นต้น
         2. ผลผลิตที่ใช้ในการบริโภค เช่น ข้าว ข้าวโพด ผลไม้ อ้อย ผลิตภัณฑ์นม เป็นต้น
ผลผลิตทางเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย เช่น  ข้าว ข้าวโพด  ยางพารา   มันสำประหลัง กุ้งแช่แข็ง ไก่แช่แข็ง เป็นต้น
          เทคนิคในการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร มีหลายขั้นตอน แต่ที่สำคัญจะเป็นแรงจูงใจสามารถทำผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า คุ้มราคา และผลิตภัณฑ์นั้นจะต้องมีความอร่อย ไม่ใช่ทำครั้งแรกอร่อยทุกคน ติดใจในรสชาติ สามารถทำรายได้ให้มากมาย พอเริ่มมีคนรู้จัก คุ้นตา ชินต่อรสชาติ ก็จะเริ่มทำผลิตภัณฑ์เพื่อให้มี ผลกำไรมาก ๆ ความสำคัญของรสชาติอาจด้อยไป จะทำให้ทุกคนเสื่อมความศรัทธาได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ จะต้องคำนึงถึง
        1. ความซื่อสัตย์ต่อตนเองและลูกค้า
        2. ต้องมีการวางแผนผลิตสินค้านั้นล่วงหน้า และเหมาะสมกับฤดูกาล เพื่อสินค้านั้นจะมีต้นทุนต่ำขายได้ ราคาสูง
        3. ต้องมีความสนใจ และตั้งใจต่อการทำผลิตภัณฑ์นั้น เพื่อให้มีความสม่ำเสมอของรสชาติและคุณภาพที่ดี
        4. ต้องคำนึงถึงความสะอาดความปลอดภัยเสมอ
        5. ต้องมีความรู้ในสารปรุงแต่งอาหารที่ใช้อย่างแม่นยำ
        6. การคัดเลือกวัตถุดิบเพื่อการแปรรูปจะต้องมีลักษณะและคุณภาพตรงตามชนิดของอาหาร และต้องคำนึง ถึงเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่ายในการเตรียมวัตถุดิบด้วย 


 การแปรรูปผลผลิต  อาจทำได้หลายวิธีเช่น การทำแห้ง การดอง การใช้ความร้อน   การใช้ความเย็น การใช้รังสี
      1. การแปรรูปอาหารโดยการทำให้แห้ง คือ การลดความชื้นของอาหารจนถึงระดับที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโต ของเชื้อจุลินทรีย์ได้ คือ มีค่าวอเตอร์แอกติวิตี้ (water activity : Aw) ต่ำกว่า 0.70 ทำให้เก็บอาหารได้นาน อาหารแห้งแต่ละชนิดจะมีความชื้นในระดับที่ปลอดภัยไม่เท่ากัน เช่น ผลไม้แช่อิ่มเก็บที่ความชื้น ร้อยละ 15-20 ถ้าเป็นเมล็ดธัญชาติความชื้นระดับนี้จะเกิดรา การทำแห้งอาหารโดยทั่วไปจะอาศัยความร้อนส่งผ่านเข้าไปให้น้ำในอาหาร เพื่อให้น้ำในอาการเคลื่อนที่และ ระเหยออกจากผิวอาหาร และประสิทธิภาพในการเคลื่อนของน้ำมาที่ผิวอาหาร ธรรมชาติของอาหาร ถ้าเป็นผักก็จะ แห้งเร็วกว่าผลไม้ เพราะผลไม้มีน้ำตาลเป็นองค์ประกอบอยู่ด้วย การทำให้แห้งโดยใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ ในสมัยโบราณมักจะตากแดด ซึ่งไม่สามารถควบคุมความร้อน และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ จึงมีการสร้างตู้อบโดยใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์ ประกอบด้วยแผงรับแสงอาทิตย์ ซึ่งทำด้วยวัสดุใส แสงอาทิตย์ตกลงบนแผงรับแล้วทะลุผ่านไปยัง วัสดุสีดำภายในตู้ และเปลี่ยนเป็นรังสีความร้อน ไปกระทบอาหาร ความชื้นระเหยออกจากอาหารจะระบายไปโดยการหมุนเวียนของอากาศทางช่องลม นอกจากนี้ยังมี กระบวนการทำให้แห้งได้อีกหลายวิธี คือ
        การทำให้แห้งโดยใช้ลมร้อน (ตู้อบลมร้อน)
        การทำให้แห้งโดยใช้ลูกกลิ้ง
        การทำให้แห้งแบบเยือกแข็ง
        การทำให้แห้งโดยใช้ไมโครเวฟ
        การทำให้แห้งโดยใช้วิธีออสโมซิส





2. การดอง เป็นการทำให้ผลผลิตมีรส กลิ่น เปลี่ยนไปจากเดิมเช่น
       การดองเค็ม โดยใช้เกลือ ( โซเดียมคลอไรด์ ) ไม่น้อยกว่า 15 เปอร์เซนต์ของน้ำหนักผลผลิตที่จะดอง เช่นการดองมะนาว ผักกาดดอง ไข่เค็ม เป็นต้น สามารถฆ่าหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดการเน่าเสีย
       การดองหวาน ( การแช่อิ่ม )  โดยใช้น้ำตาลไม่น้อยกว่า  68 เปอร์เซนต์ของน้ำหนักผลผลิตที่จะนำมาดอง เช่นมะม่วงแช่อิ่ม มะดันแช่อิ่มเป็นต้น
      3. ใช้ความเย็น เป็นวิธีที่สะดวก ช่วยในการเก็บรักษาผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ต่างๆให้สด และยังมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีอยู่ แต่ไม่สามารถทำลายจุลินทรีย์ได้ทุกชนิดเช่น
 การแช่เย็นธรรมดา ใช้อุณหภูมิ 5-10 องศาเซลเซียล
 การแช่แข็ง ใช้อุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียล สามารถเก็บรักษาผลผลิตบางชนิดได้นานเป็นปี
      4. การใช้รังสี โดยใช้รังสีแกมมา ซึ่งได้จากสารกัมมันตรังสี ที่ใช้กันมากก็คือ โคบอลต์-60 เช่น ถ้าใช้ 1 กิโลเกรย์ ใช้ชะลอการสุกของมะม่วง  และควบคุมการแพร่พันธุ์ของแมลงในระหว่างการเก็บรักษา หรือถ้าใช้ 0.15 กิโลเกรย์ ใช้ยับยั้งการงอกของมันฝรั่ง หอมหัวใหญ่ เป็นต้น
การบรรจุหีบห่อ การบรรจุหีบห่อ เพื่อให้ผลผลิตได้มาตราฐาน หรือมีคุณค่า เช่น สด มีสีเลื่อมมัน กลิ่น รส ความฉ่ำ ความกรอบ สะอาด ไม่มีตำหนิ ปราศจากสารตกค้าง เป็นต้น
การตลาด เป็นส่วนสำคัญยิ่งของการทำเกษตรเชิงธุรกิจ มีปัจจัยเกี่ยวข้องดังนี้ การเก็บรักษาสินค้า การแปรรูปสินค้า ชนิดของสินค้า การขนส่งสินค้า ราคาสินค้า สถานที่จำหน่ายสินค้า
       5. การแปรรูปเพื่อถนอมอาหารแบบใช้ความร้อนสูง จะช่วยทำลายจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ซึ่งทำให้ อาหารเน่าเสีย ทำลายเอ็นไซม์ สารพิษ พยาธิที่ไม่ทนต่อความร้อน การแปรรูปโดยใช้ความร้อน กระทำได้ 2 วิธี คือ
         1. การพาสเจอร์ไรซ์ คือ วิธีที่ถนอมอาหาร โดยใช้ความร้อนที่อุณหภูมิไม่สูงมากนักเพื่อทำลายแบคทีเรีย พวกที่ไม่สร้างสปอร์ และพวกที่ก่อให้เกิดโรคแก่คน ส่วนจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่ทนความร้อนระดับพาสเจอร์ไรซ์ จะเป็น สาเหตุทำให้อาหารเสียได้ ดังนั้น อาหารที่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ต้องอาศัยความเย็นช่วยเก็บรักษา
         2. การสเตอริไลซ์ คือ วิชาการถนอมอาหารโดยใช้ความร้อนที่อุณหภูมิสูงกว่าการพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่ง อาจเป็นอุณหภูมิสูงกว่าน้ำเดือด เพื่อทำลายจุลินทรีย์ทั้งหมดรวมทั้งสปอร์อาหารที่ได้จากการสเตอริไลซ์ ึจึงเป็น อาหารปลอดเชื้อ เก็บรักษาไว้ได้นาน โดยไม่ต้องใช้ความเย็นช่วย การสเตอริไลซ์น้ำนมวัว กระบวนการ UHT (Ultra high temperature) นิยมใช้อุณหภูมิ 135 - 150องศาเซลเซียส นาน 1-4 วินาที ซึ่งมีวิธีให้ความร้อน 2 แบบ คือ
         ก. ทางอ้อม เป็นการให้ความร้อนผ่านแผ่นแลกเปลี่ยนความร้อน
         ข. ทางตรง เป็นการใช้ไอน้ำร้อนจัด เป็นตัวกลางให้ความร้อน โดยอัดลงไปในอาหารโดยตรง แล้วจึงผ่านไปยัง เครื่องระเหยน้ำส่วนที่เกินออกไปภายใต้ภาวะสูญญากาศ






ประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การอภิปรายในห้องเรียน 1. ผลผลิตทางการเกษตรชนิดใด ที่มีโอกาสล้นตลาดได้ ถ้าผลผลิตออกมากเกินไปในฤดูกาลผลิต
 2. ผลผลิตทางการเกษตรในท้องถิ่นของนักเรียน ควรแปรรูปโดยใช้วิธีการใด
กิจกรรมเสนอแนะ
 ให้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร 1 วิธี จัดทำเป็นรายงานส่ง
การบูรณาการกับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น
 สามารถบูรณาการกับกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้ในการถนอมอาหาร




ที่มา  
http://www.sahavicha.com/?name=knowledge&file=readknowledge&id=2070






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น